วันอาทิตย์ที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2554

ทศพิธราชธรรม

ทศพิธราชธรรม แปลว่า “หลักธรรมสำหรับทำให้ผู้อื่นรักใคร่พอใจ ๑๐ อย่าง” ดังต่อไปนี้
      ๑. ทาน หมายถึงการให้ (Charity) นักบริหารหากไม่มีการให้แล้ว อย่าริคิดอ่านการใหญ่เป็นนักบริหารเลย โดยเฉพาะนักบริหารระดับชาติ คือนักการเมือง การให้เป็นคุณธรรมข้อแรกของนักบริหารตามหลักทางพุทธศาสนา การให้นั้นมีอยู่ ๒ อย่างคือ อมิสทาน ได้แก่ การให้วัตถุสิ่งของ เช่นให้เงินทองเสื้อผ้า ให้ที่อยู่อาศัย ให้อาหาร ธรรมทาน ได้แก่ การให้ธรรมหรือความรู้ ให้สติปัญญา ให้กำลังใจ ให้อภัย ให้ความรัก ให้ความเอื้อเฟื้อให้ความเมตตา
    ๒. ศีล หมายถึงความมีระเบียบวินัย (Self – Discipline) นักบริหารทุกระดับ เป็นบุคคลแบบอย่างที่จักต้องมีความ “งามด้วยศีล” ได้แก่ต้องเป็นบุคคลที่มีระเบียบวินัย เคร่งครัด ระมัดระวัง ควบคุมตนเองได้จะต้องรู้จักบริหารคน บริหารงานและบริหารบ้านเมือง
    ๓. ปริจาคะ หมายถึงการเสียสละ (Self – Sacrifice) คือการเสียสละ ละ ทิ้ง ความหมายเชิงปฏิบัติว่า ให้ ในลักษณะของ “ทาน” เป็นการให้สิ่งที่ตนมีอยู่และในเพียงบางส่วน แต่การให้ลักษณะของ “บริจาค” เป็นการให้ทั้งหมด ให้ไม่มีส่วนเหลือ นักบริหารที่ดีย่อมต้องมีความพร้อมในการเสียสละ คือการเสียสละทั้ง ๔ คือ เสียสละทรัพย์ เสียสละอวัยวะ เสียสละชีวิต เสียสละทั้งหมด ทั้งทรัพย์ อวัยวะและชีวิตเพื่อรักษาความถูกต้องดีงามของบ้านเมือง
    ๔. อาชวะ หมายถึงความซื่อตรง (Honesty) ความซื่อตรงเป็นหลักธรรมที่สำคัญอย่างยิ่งของนักบริหารอีกประการหนึ่ง นักบริหารต้องเป็นบุคคลที่ซื่อตรง ไม่คดโกง โปร่งใส ตรวจสอบได้ จึงสามารถนำคน นำงาน นำบ้านเมือง วิ่งตรงไปสู่เป้าหมายได้อย่างปลอดภัยรวดเร็วตรงกันข้ามที่นักบริหารที่ไร้คามซื่อสัตย์สุจริต ไม่ซื่อตรง คดโกง คิดคด ทรยศต่อชาติบ้านเมอง พระพุทธศาสนาเปรียบเทียบไว้ว่าเป็น “มหาโจร” ปล้นชาติปล้นแผ่นดิน ตามวิสัยของมหาโจร
    ๕. มัททวะ หมายถึงความอ่อนโยน (Gentleness) เป็นคุณธรรมที่สำคัญอย่างยิ่งสำหรับนักบริหาร เพราะนักบริหารทุกระดับที่เป็นที่ยอมรับนับถือว่าเป็นบุคคลระดับ “ยอดคน” เปรียบไปแล้วก็เหมือนยอดต้นไม้ต้องอ่อน ถ้าไม่อ่อนก็ไม่ใช่ยอดคน ผู้ที่ถือว่าเป็นยอดคนก็ต้องเป็นบุคคลที่อ่อนโยนนุ่มนวลไม่หยาบคาย ไม่แข็งกระด้าง ไม่เย่อหยิ่ง ยโสโอหัง มีบังอาจทำตนเป็นเหมือน “คางคกขึ้นวอ” ให้ลดมานะละทิฐิ
    ๖. ตปะ หมายถึงการระงับยับยั้งข่มใจ (Self – Austerity) นักบริหารที่ดีต้องมี “ตปธรรม” คือการแผดเผากิเลสตัณหามิให้เข้ามาครอบงำย่ำยีจิตใจของตนเองอยู่เสมอ คือละความชั่วภายในตอนเองให้หมดไป หล่อหลอมเอาแต่ความดีงามใส่ตัว มีความดีเป็นแบบอย่าง มีความพากเพียรเป็นเครื่องเผากิเลส
    ๗. อักโกธะ หมายถึงความไม่โกรธ (Non – Anger) นักบริหาร คือบุคคลผู้มีบทบาทมีอำนาจหน้าที่ในการบริหารจัดการโดยเฉพาะ การตัดสินใจ (Decision – Making) ให้ทำหรือไม่ทำอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งในสถานการณ์อย่างนี้ นักบริหารจะมีอารมณ์โกรธไม่ได้เลย ต้องมีความสุขสงบ เยือกเย็น เห็นตน เห็นคน เห็นงาม เห็นบ้านเมืองอย่างแจ่มใสไม่ขุ่นมัว
    ๘. อวิหิงสา หมายถึงการไม่เบียดเบียน (Non – Violence) นักบริหารที่ดีต้องไม่เบียดเบียนทั้งคนและสัตว์ รวมทั้งไม่เบียดเบียนธรรมชาติสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ตามหลักพระพุทธศาสนา คือไม่มีความเห็นผิดจากทำนองคลองธรรม ให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ให้ความเท่าเทียมกัน เหมือนกันเสมอภาคกัน เคารพในกฎหมาย ไม่ทะเลาะวิวาท บาดหมางกนด้วยความคิดเห็นที่แตกต่างกัน นำความคิดเห็นที่แตกต่างกันมาสร้างความสามัคคี
    ๙. ขันติ หมายถึงความอดทน (Tolerance) ความงามของนักบริหารอยู่ที่การมีความอดทน หรือการมีขันติ และการมีความสงบเสงี่ยมเจียมตัว หรือการมีโสรัจจะ นักบราหรที่ดีจึงจำเป็นจะต้องฝึกฝนอบรมตนเองให้เป็นคนมีความอดทนและความเสงี่ยมเจียมตัวอยู่เสมอ
    ๑๐. อวิโรธนะ หมายถึงความไม่คลาดธรรม (Non - Opposition) คือมีความหนักแน่นในธรรม ไม่มีความเอนเอียงหวั่นไหวสถิตมั่นในธรรม นักการบริหารทุกระดับ ตั้งแต่บริหารตน บริหารบุคลากร บริหารงาน และการบริหารบ้านเมือง ไม่ว่าจะระดังใดจะต้องไม่มีความผิดพลาด ความเสียหายต้องไม่มีพิรุธใด ๆ เพราะหากมีความผิดพลาดมีพิรุธบกพร่อง ย่อมเป็นช่องทางให้เกิดความหายนะสะสมทับถมต่อเนื่องและเรื้อรัง จะแก้ไขลำบากอยากที่จะกำจัดได้ และเป็นการแสดงให้เห็นว่า นักบริหารคนใดโว่ซ้ำซาก นักบริหารที่ดีจะต้องมีหลักการ หลักวิชา และหลักธรรมในการบริหารการทำงานใด ๆ ไม่ว่าใหญ่หรือเล็กจะต้องไม่มีข้อผิดพลาด ไม่หลงทิศ ไม่ผิดทางห่างเป้าหมาย
    สรุปหลักทศพิธราชธรรมกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ คือหลักในการที่นักบริหารจะต้องมีไว้ในตัวเอง นั้นคือ นักบริหารจะต้องมีการเสียสละทรัพย์สินของตนเองเพื่อบำรุงเลี้ยงผู้อื่น เป็นผู้มีความประพฤติเรียบร้อยดีงาม งามกาย งามวาจา และงามพร้อมด้วยจิตใจ มีการเสียสละหรือบริจาคสิ่งของต่าง ๆ ต้องเป็นบุคคลผู้ที่ซื่อตรง คือการมีความซื่อสัตย์ ปฏิบัติภารกิจหน้าที่โดยสุจริต มีความจริงใจ มีอัธยาศัยไมตรี อ่อนโยน ไม่เย่อหยิ่งในตน และในงานนั้น เป็นผู้ทรงไว้ซึ่งเดช คือการแผดเผากิเลสตัณหามิให้เข้ามาครอบงำย่ำยีจิตใจ ระงับยับยั้งข่มใจ โดยการใช้เมตตาธรรม คือความไม่โกรธ ไม่เบียดเบียน การให้อภัยบุคคลอื่น เป็นผู้ที่มีความอดทนในการทำงาน อดทนต่อความเจ็บไข้ได้ป่วย และอดทนต่อการกล่าวว่าติเตียนของผู้อื่นและคนรอบข้าง และข้อสุดท้ายควรเป็นผู้ไม่คลาดธรรม คือมีความหนักแน่นในธรรม ไม่มีความเอนเอียงหวั่นไหว สถิตมั่นในธรรม ดังนี้เป็นต้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น